วันอังคารที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

ประวัติ บ้านกุดตาใก้ สายนาวัง

ประวัติ บ้านกุดตาใก้ สายนาวัง
เรียบเรียบเรียง โดย
นายสิทธิโชค  อันทราศรี
คณะครุศาสตร์  สาขาวิชาสังคมศึกษ
มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม

ความเป็นมาของหมู่บ้าน
บ้านกุดตาไก้  ตำบลสายนาวัง อำเภอนาคู จังหวัดกาฬสินธุ์ มีประวัติการตั้งถิ่นฐานมายาวนานกว่า ๑๘๐ ปี ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นชาวภูไท เมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๙ เจ้าอนุวงศ์ผู้ครองนครเวียงจันทน์เป็นกบฏต่อไทย กองทัพไทยไปปราบชนะ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๓ ทรงมีพระราชดำริให้กองทัพไทย ไปกวาดต้อนเอาครอบครัวหัวเมือง ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ข้ามมาอยู่ฝั่งขวาแม่น้ำโขง เพื่อมิให้เป็นทางเสบียงอาหารแก่ญวน ชาวเมืองวังจึงถูกกวาดต้อนมาตั้งเป็นเมืองกุดสิมนารายณ์ ปีพ.ศ. ๒๓๘๘ เป็นปีที่เจ้าราชวงศ์ (กอ) ลงไปเฝ้าที่กรุงเทพ ฯ และได้รับพระราชทานตราตั้งให้เป็นพระธิเบศวงษา เป็นเจ้าเมืองกุดสิมนารายณ์ คนแรก หรือ อ.เขาวงในปัจจุบัน (นายนรเก โทธิเบศร์วงษา, 2519 : 32)

เมืองกุดสิมนารายณ์ปกครองกันต่อมา ปรากฏมีดินแตกระแหงที่ท้ายเมือง กว้างเท่าฟองไข่เป็ด ลึกกว่าด้ายหลอดหนึ่งผูกลูกตุ้มหย่อนลงไปไม่ถึงก้น เห็นไม่เป็นศิริมงคลผู้คนจึงอพยพแยกย้ายเมืองไปตั้งอยู่ตามสถานที่ต่างๆ ที่มีความอุดมสมบูรณ์ (นายนรเก โทธิเบศร์วงษา, 2519 : 32) ผู้คนที่มาตั้งบ้านกุดตาไก้ คือ “นายกวานบ้าน” (ไม่ทราบชื่อที่แน่ชัด) โดยตั้งบ้านครั้งแรกอยู่ทางทิศตะวันออกของหมู่บ้าน ปัจจุบันบ้านกุดตาไก้พัฒนา หมู่ ๗ ต่อมาหมู่บ้านเกิดโรคระบาดอย่างร้ายแรงจึงทำให้ชาวบ้านต้องย้ายไปทางทิศตะวันตกของหมู่บ้าน ซึ่งเป็นคุ้มบ้านน้อย หรือ บ้านกุดตาไก้ หมู่ ๔ ในปัจจุบัน (นายอำนาจ วิลาศรี, 2558 : สัมภาษณ์) บ้านกุดตาไก้เป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ระหว่างเมืองใหญ่สองเมืองในสมัยอดีต คือเมืองภูแล่นช้าง และเมืองกุดสิมนารายณ์ ซึ่งมีหนองน้ำกุดแฮ่เป็นจุดกึ่งกลางระหว่างเมืองทั้งสอง ดังนั้นบ้านกุดตาไก้จึงต้องต้อนรับเจ้าเมืองทั้งสองฝั่งเป็นประจำทุกปีในสมัยอดีต โดยใช้ผ้าทอ หรือ ผ้าคราม ซึ่งเป็นภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมาจากบรรพบุรุษเป็นของกำนัลมอบให้แก่เจ้าเมืองทั้งสองฝั่ง ต่อมาเจ้าเมืองภูแล่นช้างได้อัญเชิญ เจ้าปู่ตารำภมรมาสถิตอยู่ ณ กุดตาไก้เพื่อเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำหมู่บ้าน ชาวบ้านกุดตาไก้ จึงขึ้นกับเจ้าเมืองภูแล่นช้างนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา (นายเขียน คะโยธา, 2558 : สัมภาษณ์)
บ้านกุดตาไก้เป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ หนองน้ำใกล้หมู่บ้าน (หรือกุดแฮ่ในปัจจุบัน) มีสัตว์ขนาดเล็กชื่อ ไก้มีรูปร่างเล็กคล้ายกระจง ผู้คนมักล่ามาเป็นอาหาร จนในปัจจุบันสูญพันธุ์ไป หมู่บ้านนี้จึงได้ชื่อว่า กุดตาไก้ ต่อมาศูนย์พัฒนาการเคลื่อนที่มาเปลี่ยนชื่อเป็น กุดตาใกล้ในปี พ.ศ. ๒๕๒๕  ซึ่งในปัจจุบันชาวบ้านกุดตาไก้ รณรงค์ให้อนุรักษ์ชื่อหมู่บ้านไว้ให้เป็นดั่งเดิม ชาวบ้านจึงนำชื่อหมู่บ้านกลับมาใช้เหมือนเดิมจากที่เคยเปลี่ยนโดยศูนย์พัฒนาการเคลื่อนที่ ในปี พ.ศ.๒๕๕๐  (นายอำนาจ วิลาศรี, 2558 : สัมภาษณ์)  


ลักษณะภูมิประเทศ เดิมบ้านกุดตาไก้มีพื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์ สัตว์ป่าชุกชุม เช่น นกกา เก้ง ไก้ ค้างคาว ฯลฯ อาศัยอยู่มากมาย นอกจากนี้ยังมีความหลากหลายของพันธุ์พืชนานาชนิด เป็นแหล่งอาหาร  และสมุนไพรพื้นบ้านของคนในชุมชน ต่อมาชุมชนมีการขยายตัว เกิดความต้องการทั้งพื้นที่สำหรับอยู่อาศัย พื้นที่สำหรับการเกษตร ตลอดจนมีการแผ้วถางทำลายต้นไม้ใหญ่น้อย สำหรับสร้างบ้านเรือน ปันจุบันบ้านกุดตาไก้ เป็นพื้นที่เพาะปลูกส่วนใหญ่เป็นที่นาดอน ลักษณะดินเป็นดินร่วนปนทราย ในเขตพื้นที่ บ้านกุดตาไก้  ใช้ที่ดินสำหรับการเพาะปลูกเป็นส่วนใหญ่ ประมาณ ร้อยละ ๖๐ ของพื้นที่ทั้งหมด  ที่เหลือจะเป็นที่อยู่อาศัยและที่สาธารณะ การใช้ประโยชน์ของที่ดินยังใช้ไม่ได้เต็มที่เนื่องจากดินส่วนมากจะเป็นดินร่วนปนทราย     และยังขาดแคลนน้ำ ในการทำการเกษตร (นายอำนาจ วิลาศรี, 2558 : สัมภาษณ์)  

ที่ตั้ง
ทิศเหนือติดกับ บ้านนากระเดา ต.สายนาวัง อ.นาคู จ.กาฬสินธุ์                                              
ทิศใต้ติดกับ บ้านหนองห้าง ต.โนนนาจาน อ.นาคู จ.กาฬสินธุ์                                                          
ทิศตะวันออกติดกับ บ้านส้มป่อย ต.สระพังทอง อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์                                                       
ทิศตะวันตกติดกับ บ้านจาน ต.โนนนาจาน อ.นาคู จ.กาฬสินธุ์

-จักรยานคันแรกเป็นของ นายคำภา  คะโยธา เมื่อปี พ.ศ.2509
          -มอเตอร์ไซค์คันแรกเป็นของ นายพรหมมา  กุดตระแสง เมื่อปี พ.ศ.2509
          -รถยนต์คันแรกเป็นของ นายสว่าง เมื่อปี พ.ศ. 2510
          -ใบยาสูบถูกนำเข้ามาปลูกในหมู่บ้านครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2511
          -ปุ๋ยเคมีเข้ามาหมู่บ้านกุดตาไก้ครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2511 โดย โดยหน่วยพัฒนาการทหารเคลื่อนที่
          -โรงสีของหมู่บ้านกุดตาไก้เป็นของ นายโชติ คะโยธา เมื่อปี พ.ศ. 2511
          -ร้านค้าแห่งแรกของบ้านกุดตาไก้ เป็นของ นายโชติ คะโยธา เมื่อปี พ.ศ. 2512
          -เครื่องปั่นไฟเครื่องแรกเป็นของ นายทองแดง แก้วคำภา เมื่อปี พ.ศ. 2524
          -อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าเข้ามาหมู่บ้านกุดตาไก้ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2524
          -ไฟฟ้าเข้ามาหมู่บ้านกุดตาไก้ ครั้งแรกเมื่อ ปี พ.ศ 2524
          -น้ำประปาเข้ามาหมู่บ้านกุดตาไก้ ครั้งแรกเมื่อ ปี พ.ศ. 2524
          -ทีวีเครื่องแรกของหมู่บ้านกุดตาไก้ เป็นของ นายธีระวัฒน์ บุษมงคค เมื่อปี พ.ศ.2525
          -บ้านกุดตาไก้ ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น บ้านกุดตาใกล้ เมื่อปี พ.ศ. 2525 โดยศูนย์พัฒนาการเคลื่อนที่
          -รถไถเดินตามคันแรกเป็นของ นายประชิน  วรสาร เมื่อปี พ.ศ. 2535
          -สำนักสงฆ์วิสุทธิญาณสุนทร (วัดป่า) บ้านกุดตาไก้ก่อตั้ง เมื่อปี พ.ศ. 2535
          -ถนนลาดยางสร้างเสร็จครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2538
          -มีเมรุครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2538
          -โทรศัพท์บ้านเข้ามาหมู่บ้านกุดตาไก้ครั้งแรก เป็นของ นายสานิตย์ เมื่อปี พ.ศ. 2539
          -แท็งก์น้ำสร้างที่หมู่บ้านกุดตาไก้ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2540
          -ปัจจุบันเปลี่ยนคืนเป็นบ้านกุดตาไก้ เมื่อปี พ.ศ. 2550



อดีตผู้ใหญ่(กวานบ้าน) และ กำนัน(ตาแสง) ของหมู่บ้านกุดตาไก้
          1.นายสิม         (ไม่ทราบว่ามีนามสกุลหรือไม่)      เมื่อปี พ.ศ. 2457 – 2463
          2.นายบุตรดี      วรสาร                               เมื่อปี พ.ศ. 2463 – 2469
          3.นายจ่อม       วิลาศรี                               เมื่อปี พ.ศ. 2469 – 2475
          4.นายวงศ์        วรสาร                               เมื่อปี พ.ศ. 2475 – 2485
          5.นายวารี        วิลาศรี                               เมื่อปี พ.ศ. 2485 – 2487
          6.นายงอน        คะโยธา                              เมื่อปี พ.ศ. 2487 – 2503
          7.นายเกิ่ง         ศรีพะยอม                           เมื่อปี พ.ศ. 2503 – 2505
          8.นายเภา        วิลาศรี                               เมื่อปี พ.ศ. 2505 – 2518
          9.นายบรรจง     โวหารกล้า                           เมื่อปี พ.ศ. 2518 – 2524
          10.นายบรรจง   โวหารกล้า                           เมื่อปี พ.ศ. 2524 – 2541 กำนันคนแรกของหมู่บ้านกุดตาไก้ ต.สายนาวัง อ.นาคู จ.กาฬสินธุ์        
11.นายอำนาจ   วิลาศรี                               เมื่อปี พ.ศ. 2541 – 2551 กำนันคนที่สองของหมู่บ้านกุดตาไก้ ต.สายนาวัง อ.นาคู จ.กาฬสินธุ์ กำนันยอดเยี่ยมพ.ศ. 2550
เดิมบ้านกุดตาไก้มีเพียงหมู่ที่ 4 เพียงหมู่บ้านเดียว แต่เมื่อปี พ.ศ. 2528 ได้แยกการปกครองออกเป็น 2 หมู่บ้าน คือหมู่ที่ 4 และหมู่ที่ 7 โดยมีผู้ใหญ่หมู่บ้านหมู่ที่ 7 ปกครองตามลำดับดังนี้
          1.นายจอม       วิลาศรี                               เมื่อปี พ.ศ. 2528 – 2542
          2.นายทองแดง   แก้วคำภา                           เมื่อปี พ.ศ. 2542 - 2552
ปัจจุบันการปกครอง ประกอบด้วย บ้านกุดตาไก้ หมู่4 (บ้านน้อย) และบ้านกุดตาไก้พัฒนา หมู่ 7 โดยมีผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 4 และ หมู่ที่ 7 ปกครองดังนี้
          1.นายเจริญ      วิลาศรี                               เมื่อปี พ.ศ. 2551 – ปัจจุบัน
          2.นายเมืองมนต์  สุขพันธ์                              เมื่อปี พ.ศ. 2552 – ปัจจุบัน
ประชากร  หมู่ 4  ชาย...214...คน  หญิง...230...คน  รวม  444 คน   97 ครัวเรือน                          ประชากร  หมู่ 7  ชาย...221...คน  หญิง...240...คน  รวม  461 คน     112 ครัวเรือน            (ข้อมูลสถิติ พ.ศ. 2558)                                                 
บุคคลสำคัญของหมู่บ้าน กุดตาไก้
ที่มา https://dna2532.wordpress.com/2011/09/07/ประวัติ บำรุง-คะโยธา
          นายบำรุง คะโยธา เกิดที่บ้านกุดตาไก้ เมื่อปี พ.ศ. 2493 จบการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง เป็นผู้นำรากหญ้า ท้าอธรรม ตั้งแต่กลับมาจากการเป็นกรรมกรในกรุงเทพฯ นายบำรุง  คะโยธา                  พาเกษตรกรรวมกลุ่มผู้เลี้ยงหมู ต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมให้กับกลุ่มผู้เลี้ยงหมู ทดลองทำการแปรรูปหมูเป็นสินค้าในรูปแบบต่างๆ แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จทางการตลาด ต่อมานายบำรุง  คะโยธา ร่วมกับเอ็นจีโอและผู้นำเกษตรกรคนอื่นๆ พาพี่น้องเกษตรกรจัดตั้งสมัชชาเกษตรกรรายย่อยภาคอีสาน (สกยอ.) ที่ขอนแก่น                นายบำรุง คะโยธา เป็นผู้นำในการเรียกร้องและต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมให้แก่เกษตรกร ขณะที่มีผู้นำอื่นๆ อาศัยเกษตรกรไต่เต้าในลักษณะ นายหน้าค้าความจนและเรียกรับเงินจากเกษตรกร  นายบำรุง คะโยธา  ไม่เคยมีพฤติกรรมไม่ดีเช่นนี้ ผู้นำเกษตรกรแตกแยกกัน กลายเป็น สกยอ.1 และ สกยอ.2 หลายคนไปสมัครเป็น สส.บัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง บางคนอยู่ในกองทุนฟื้นฟูเกษตรกร บางคนติดคุกอยู่ที่บุรีรัมย์                  นายบำรุง คะโยธา และผู้นำอีกส่วนหนึ่งพากันก่อตั้ง สมัชชาคนจนรวมเครือข่ายเกษตรกรกว่า 100 ชุมชน ชุมนุมเรียกร้องหน้าทำเนียบ 99 วัน จนถือว่าเป็นม็อบที่อยู่นานที่สุดตั้งแต่มีการเรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่ เกษตรกร ซึ่ง มีทั้งที่ประสบผลสำเร็จ เกษตรกรได้รับสิทธิที่ดิน ได้ผ่อนเบาหนี้สิน เกิดกองทุนฟื้นฟูเกษตรกร ช่วยปลดหนี้และประนอมหนี้แก่เกษตรกร
สถานที่ผู้คนอพยพมาอยู่บ้านกุดตาไก้ครั้งแรก 
ปัจจุบันอยู่ที่ข้างบ้านของนายเสวิด วิลาศรี บ้านกุดตาไก้ หมู่ที่ 7
หนองกุดแฮ่ ปัจจุบันอยู่บ้านกุดตาไก้ หมู่ที่ 4

แท็งก์น้ำบ้านกุดตาไก้ สร้างครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2540 ปัจจุบันอยู่บ้านกุดตาไก้ หมู่ที่ 7 ยังใช้การได้

มีเมรุครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2538 ปัจจุบันอยู่บ้านกุดตาไก้ หมู่ที่ 4

อ้างอิง
          นรเก  โทธิเบศร์วงษา. (2519). ตำนานไทย – พุไทยวัง. [ม.ป.ท: ม.ป.พ.].       
นายเขียน คะโยธา. อายุ 82 ปี. บ้านเลขที่ 51 บ้านกุดตาไก้ หมู่ 4 ต.สายนาวัง อ.นาคู จ.กาฬสินธุ์. ผู้ให้สัมภาษณ์. นายสิทธิโชค  อันทราศรี. ผู้สัมภาษณ์. วันที่ 17 ตุลาคม 2558.
          นายบรรจง  โวหารกล้า. อายุ 78 ปี. บ้านเลขที่ 64 บ้านกุดตาไก้ หมู่ 4 ต.สายนาวัง อ.นาคู                        จ.กาฬสินธุ์. ผู้ให้สัมภาษณ์. นายสิทธิโชค  อันทราศรี. ผู้สัมภาษณ์. วันที่ 17 ตุลาคม 2558.
นายอำนาจ  วิลาศรี. อายุ 60 ปี. บ้านเลขที่ 58 บ้านกุดตาไก้ หมู่ 4 ต.สายนาวัง อ.นาคู จ.กาฬสินธุ์. ผู้ให้สัมภาษณ์. นายสิทธิโชค  อันทราศรี. ผู้สัมภาษณ์. วันที่ 17 ตุลาคม 2558.