วันอังคารที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2554

ถนนคนเที่ยว @ นครพนม


สามแผกผาสุข...หอนาฬิกา นครพนม...แหล่งท่องเทียวของ  คนรักเที่ยว





ถนนคนเที่ยว @ นครพนม
วันนี้  โตโต้โสนแย้ม  จะพา ไปชม ถนนคนเที่ยวยามย่ำค่ำและราตรี ของเมืองเล็กๆแห่งหนึ่งริมฝั่งแม่น้ำโขงซึ่ง ณ ที่ฝั่งตรงข้ามคือ เมืองท่าเขกแขวงคำม่วน สปป ลาว  สัมผัสนิยามแห่งคำว่า.....
ดงภูเป็นของฝั่งลาว...ทิวทัศน์ทอดยาวเป็นของฝั่งไทย  ท่องเที่ยวไปตามใจฉันได้อย่างสบายๆ ทั่งสบายกระเป๋าด้วยครับ....นานๆผมจะไปสำรวจตลาดที่ถนนเส้นนี้ ครับ ถ้าหากว่าเพื่อนๆมาเที่ยวนครพนม ก็อย่าลืมมาแวะนั่นเบาๆกัน นะครับ




ซอยนี้  ทางลงไปที่ ธนาคารออมสิน มีหลายๆร้านให้เลือกสรรพ์ ราคากันเอง
และก็มีให้เลือกหลายๆ ที่ นะครับ.....สนุกสุขใจที่สุด.....@ นครพนม
ในฉบับนี้ขอยกเอา การฟ้อนผู้ไทยเรณูนคร มาฝากครับ
การฟ้อนผู้ไทยเรณูนคร หรือที่ชาวผู้ไทยนิยมเรียกว่า "รำผู้ไทย" เป็นประเพณีที่มีมาพร้อมกับบรรพบุรุษ ที่สร้างบ้านแปลงเมือง การฟ้อนผู้ไทยนี้ถือว่าเป็นศิลปะเอกลักษณ์ทางด้านวัฒนธรรมประจำเผ่าของผู้ไทยเรณูนคร ผู้ไทยแบ่งออกเป็น ๒ พวกใหญ่คือ ผู้ไทยดำและผู้ไทยขาว ชาวเรณูนครเป็นผู้ไทยดำและผู้ไทยขาว มีสีผิวเป็นสีขาวเหมือนกัน แต่ชาวผู้ไทยดำนิยมแต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีดำ หรือสีน้ำเงิน สีขาวเป็นสีที่มีสิริมงคล สีแดงเป็นสีแดงถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ชาวผู้ไทยมีนิสัยเปิดเผยและโอบอ้อมอารีย์ มีความสามัคคีพร้อมเพรียง เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มีขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีงาม เป็นที่ประทับใจของผู้ที่ได้พบเห็น การฟ้อนผู้ไทยเรณูนคร เป็นประเพณีดั้งเดิมของชาวผู้ไทย เดิมนั้นคงไม่เป็นรูปแบบอย่างปัจจุบันนี้ เพราะเป็นความสนุกสนาน ภายในกลุ่มที่ร่วมฟ้อนด้วยกันเป็นส่วนใหญ่ เป็นการฟ้อนของพวกหนุ่มสาวในงานบุญมหาชาติ งานนมัสการพระธาตุเรณู และงานเทศกาล อื่นๆ ต่อมา นายคำนึง อินทร์ติยะ ครูใหญ่ โรงเรียนเรณูนครวิทยาคาร ซึ่งต่อมาได้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าการประถมศึกษาเรณูนคร มีความคิดปรับปรุงการฟ้อนผู้ไทย ให้เป็นแบบแผนเพื่อง่ายแก่การฝึกหัด และเป็นเอกลักษณ์ในการฟ้อนผู้ไทย จึงได้เชิญผู้มีอาวุโส ประจำหมู่บ้านที่ฟ้อนผู้ไทยเก่ง มาร่วมคิดท่ารำต่างๆ เช่น คุณพ่อควันทอง ผ้าแก้วมณีชัย ฯลฯ ผู้เฒ่าประจำหมู่บ้านที่ฟ้อนผู้ไทยเก่ง มาร่วมคิดท่ารำผู้ไทยเรณูนครนั้น ดัดแปลงมาจากการเดิน บิน เต้น ของสัตว์ เพราะชาวผู้ไทยมีอาชีพทำนาขณะไถนา จะมีกาหรือนก หลายประเภท จะมาหากินตามทุ่งนา และมีการหยอกล้อเล่นกันสนุกยิ่งนัก
ท่าฟ้อนผู้ไทยเรณูนคร มี ๑๖ ท่า ดังนี้ คือ
๑. ท่าโยกหรือทำเตรียม (ท่าเตรียมโยกตัวไปมาเป็นการอุ่นเครื่องเพื่อจะไป ท่าบิน)    ๒. ท่าบิน หรือท่านกกะบาบินเลียบ
             ๓. ท่าเพลิน หรือ ท่ารำเพลิน   ๔. ท่าเชิด หรือ ท่ารำเชิด   ๕. ท่าม้วน หรือ ท่ารำม้วน   ๖. ท่าส่วย หรือ ท่ารำส่วยเบ็ด
๗. ท่าลมพัดพร้าว   ๘. ท่ารำเดี่ยว หรือฟ้อนเลือกคู่   ๙. ท่าเสือออกเหล่า   ๑๐. ท่ากาเต้นก้อนกินข้าวเย็น
๑๑. ท่าเสือลากหาง   ๑๒. ท่าม้ากระทืบโฮง   ๑๓. ท่าจรเข้ฟาดหาง   ๑๔. ท่ามวยโบราณ
๑๕. ท่าถวายพระยาแถน หรือท่าหนุมานถวายแหวน   ๑๖. ท่ารำเกี้ยว
การแต่งกายฟ้อนผู้ไทยเรณูนคร
ฝ่ายชายจะนุ่งกางเกงขาก๊วย สวมเสื้อม้อฮ่อมสีน้ำเงิน คอพระราชทานขลิบแดง กระดุมทองหรือเงิน มีผ้าขาวม้าไหมมัดเอว สวมสายสร้อยเงิน ข้อเท้าทำด้วยเงินปะแป้ง แต่งหน้าขาวดอกไม้ทัดหูอย่างสวยงาม  ฝ่ายหญิงนั้นนุ่งผ้าถุงและสวมเสื้อแขนกระบอกสีน้ำเงินขลิบแดง ประดับด้วยกระดุมทองหรือเงิน สวมสร้อยคอ กำไลข้อมือ ข้อเท้าหรือทำด้วยทองหรือเงินตามควรแก่ฐานะของตน มีดอกไม้สีขาวประดับผม หญิงสาวที่จะฟ้อนผู้ไทยเรณูนคร ต้อนรับแขกได้ จะต้องเป็นสาวโสด แต่งงานแล้วจะไม่มีสิทธิ์ฟ้อนผู้ไทยเรณูนคร เวลาฟ้อนทั้งชายหญิงจะต้องไม่สวมถุงเท้าหรือรองเท้า และที่สำคัญคือ ในขณะฟ้อนผู้ไทยนั้นฝ่ายชายจะถูกเนื้อต้องตัวฝ่ายหญิงไม่ได้เด็ดขาด (มิฉะนั้นจะผิดผี เพราะชาวผู้ไทยนับถือผี บ้านผีเมือง อาจจะถูกปรับไหมตามจารีตประเพณีได้)
ดนตรีที่ใช้ในการฟ้อนผู้ไทยเรณูนคร มีดังนี้
๑. แคน ใช้เป็นดนตรีนำในการฟ้อน   ๒. กลองหาง   ๓. ฉิ่ง    ๔. ฉาบ   ๕. กลองสองหน้า   ๖. บังหาด (ม้าล่อ)
๗. ซอ   ๘. พิณ    ๙. ฆ้องเล็ก   ๑๐. ไม้กั๊บแก๊บ
การฟ้อนผู้ไทยเรณูนคร ปัจจุบันเป็นศิลปะวัฒนธรรมที่ขึ้นชื่อของอำเภอเรณูนครและของจังหวัดนครพนมที่ได้รับการอนุรักษ์ และนำออกเผยแพร่ทั้งในและต่างประเทศ เป็นที่ประทับใจของผู้ชมได้เป็นอันมาก ดังนั้นการฟ้อนผู้ไทยเรณูนครจึงได้รับเกียรติ ในการแสดงเผยแพร่วัฒนธรรมอยู่เป็นประจำทั้งในการเทศกาลต่างๆ และต้อนรับแขกผู้ใหญ่ที่มาจากต่างบ้านต่างเมือง ปัจจุบันกระทรวง ศึกษาธิการได้บรรจุวิชา "การฟ้อนผู้ไทยเรณูนคร" เข้าไว้ในหลักสูตรให้นักเรียนทั้งชั้นประถมศึกษา และมัธยมศึกษาเล่าเรียนกัน โดยเฉพาะนักเรียนที่เล่าเรียนอยู่ในสถานศึกษาภายในเขตอำเภอเรณูนคร จะฟ้อนรำประเพณี "การฟ้อนผู้ไทย" เป็นทุกคน
ฉบับหน้าขออุบไว้ก่อน นะครับ...จะมาเล่าสู่กันฟังในเรื่องศิลปวัฒนธรรมนี่แหละ....ติดตามกันนะครับ

ข้อมูล อัครเดชา  ฮวดคันทะ

เปิดตัว นิตยสารคนท่องเที่ยว

เปิดตัวกับบทควมท่องเที่ยวและภาพที่ ท่องเที่ยวไปตามใจฉัน
โดย โตโต้โสนแย้ม พาเที่ยว


ชาวเรณูนครส่วนใหญ่เป็นชาวภูไท มีต้นกำเนิดดั้งเดิมในเมืองแถง ประเทศเวียดนาม ได้อพยพมาอยู่ในเขตอำเภอเรณูนครมาหลายชั่วอายุคน พวกเขามีขนบธรรมเนียมประเพณีส่วนใหญ่ตามแบบฉบับของชาวภูไท ได้แก่
  • ภาษาภูไท มีลักษณะที่แตกต่างจากภาษาอีสานทั่วไป ใช้สื่อสารกันในหมู่ชาวภูไททั้งในอำเภอนี้และกับชาวผู้ไทยในถิ่นอื่น ๆ
  • ฟ้อนภูไท เป็นการฟ้อนรำที่งดงาม ประกอบด้วยดนตรีอันเป็นเอกลักษณ์ของชาวภูไท มักแสดงในเทศกาลสำคัญของท้องถิ่น หรือเมื่อต้อนรับแขกสำคัญ
  • ขี่ช้างชมเมือง เป็นประเพณีที่ใช้ต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง โดยจะนำเหล้าสาโทใส่ไห(ชาวผู้ไทเรียกไหเว่า "อุ") 2 ใบ มีหลอดดูดซึ่งทำมาจากไม้ซาง แล้วให้แขกที่ดูดเหล้ากับตัวแทนชาวผู้ไท ระหว่างนั้น จะบรรเลงเพลงพื้นบ้านไปเรื่อยๆ จนกว่าแขกดื่มเสร็จ แล้วเพลงก็จะหยุดบรรเลง
  • การแต่งกายในโอกาสพิเศษ ชาวภูไทในเรณูนครจะพากันแต่งกายตามแบบดั้งเดิม คือใช้ผ้าฝ้ายย้อมครามทั้งหญิงและชาย แต่ได้ประยุกต์จนเป็นแบบฉบับของตนเอง โดยมีความแตกต่างจากชาวภูไทในท้องถิ่นใกล้เคียง