วันศุกร์ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ตำนานชาวภูไท



ตำนานชาวภูไท
ชาวภูไท เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุดรองลงมาจากกลุ่มไทลาว ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีแม่น้ำโขงแยกกลุ่มนี้ออกจากภูไทในภาคเหนือของลาว และญวน กลุ่มภูไทกลุ่มใหญ่ที่สุดอาจจะอยู่แถบลุ่มน้ำโขง และแถบเทือกเขาภูพาน เช่นจังหวัดนครพนม ได้แก่อำเภอคำชะอี ธาตุพนม เรณูนคร นาแก จังหวัดสกลนครได้แก่ อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดกาฬสินธุ์ ได้แก่ อำเภอกุฉินารายณ์ เขาวง สหัสขันธ์ ส่วนภูไทผู้เข้าสู่ภาคกลางในจังหวัดราชบุรี และเพชรบุรี ในย่านนั้นเรียกว่า ลาวโซ่ง

เผ่าภูไท เป็นคนเผ่าไทยกลุ่มหนึ่งที่มีอยู่ในแคว้นสิบสองจุไทย และอาณาจักรล้านช้าง การเคลื่อนย้ายของชาวภูไท เข้าสู่ภาคอีสานมีหลายครั้ง และมาจากที่ต่างๆ จึงทำให้กลุ่มภูไทที่เข้ามาอยู่ในจังหวัดสกลนคร เรียกชื่อตัวเองตามแหล่งเมืองเดิมของตนเช่น ผู้ไทวัง คือ ผู้ไทที่อพยพมาจากเวงวัง มาตั้งบ้านเรือนอยู่แถบอำเภอพรรณานิคม
ผู้ไทกระป๋อง คือภูไทที่อพยพมาจากเมืองกะปอง มาตั้งบ้านเรือนในเขตอำเภอวาริชภูมิ ผู้ไทกะตาก คือผู้ไทที่อพยพมาจากเมืองกะตาก มาตั้งบ้านเรือนอยู่แถบตำบลโนนหอม และแถบริมหนองหาร ทางทิศใต้

ชาวภูไทมีลักษณะความเป็นอยู่แบบครอบครัวใหญ่ในบ้านเดียวกัน เป็นกลุ่มคนทำงานที่มีความขยันขันแข็ง มัธยัสถ์ ทำงานได้หลายอาชีพเช่น ทำนา ทำไร่ ค้าวัว ค้าควาย นำกองเกวียนบรรทุกสินค้าไปขายต่างถิ่นเรียกว่า นายฮ้อยเผ่าภูไทเป็นกลุ่มที่พัฒนาได้เร็วกว่าเผ่าอื่น มีความรู้ความเข้าใจและมีความเข้มแข็งในการปกครอง มีหน้าตาที่สวย ผิวพรรณดี กริยามารยาทแช่มช้อย มีอัธยาศัยไมตรีในการต้อนรับแขกแปลกถิ่นจนเป็นที่กล่าวขวัญถึง

เผ่าภูไทนิยมนุ่งผ้าซิ่นหมี่ตีนต่อ เป็นผืนเดียวกันกับผ้าผืนกว้างประมาณ 4-5 นิ้ว ย้อมครามเกือบสีดำ เรียกว่าผ้าดำหรือซิ่นดำ สวมเสื้อแขนกระบอกสามส่วน สำดำขลิบแดง ติดกระดุมเงิน หรือเหรียญสตางค์ หรือกระดุมขาวมาติดเรียงสองแถวห่มด้วยผ้าขิดพื้นเมือง เปลือยไหล่ด้านขวา ห่มด้านซ้ายและมัดชายผ้าสีข้างด้านขวา นิยมสวมสร้อยคอ สร้อยข้อมือ ข้อเท้า ด้วยโลหะเงิน เกล้าผมเป็นมวยสูงตั้งตรง ใช้ผ้ามนหรือแพรมนทำเป็นผ้าสี่เหลี่ยมเล็กๆ ม้วนผูกมวยผม

วัฒนธรรมประเพณี เผ่าภูไท มีเอกลักษณ์เป็นจุดเด่นหลายประเภท เช่น การแต่งทำนองดนตรี เรียกว่า ลายเป็นเพลงของภูไทมีบ้านแบบภูไทคือ มีป่องเอี้ยม เป็นช่องลม มีประตูป่อง หน้าต่างยาวจรดพื้น มีห้องภายในเรือนเป็นห้องๆ ที่เรียกว่า ห้องส่วม’  นอกจากนั้นยังมีวัฒนธรรมการทอผ้าห่มผืนเล็กๆ ใช้สำหรับห่มแทนเสื้อกันหนาวใช้คลุมไหล่ เรียกว่า ผ้าจ่อง นอกจากนี้แล้วยังมีผ้าแพรวา ใช้ห่มเป็นสไบ ซึ่งมีแหล่งใหญ่ที่บ้านโพน อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ และมีผ้าลาย ใช้เป็นผ้ากั้นห้องหรือห่มแทนเสื้อกันหนาวได้ ซึ่งมีแหล่งใหญ่อยู่บ้านนางอย อำเภอเตางอย จังหวัดสกลนคร ประเพณีที่สำคัญของเผ่าภูไทซึ่งถือกันแต่โบราณ ได้แก่ การลงข่วง พิธีแต่งงาน การทำมาหากิน การถือผี และการเลี้ยงผีในพงศาวดารเมืองแถง(แถน) กล่าวถึง การกำเนิดมนุษย์และถิ่นกำเนิดของชาวภูไทว่า เกิดจากเทพสามีภรรยา 5 คู่ ซึ่งเป็นพี่น้องกัน เมื่อหมดอายุบนสวรรค์จึงอธิษฐานจิตเนรมิตน้ำเต้าขึ้นมา เทพทั้ง 5 คู่ ก็เข้าไปอยู่ในน้ำเต้า น้ำเต้าลอยจากสวรรค์มาตกบนภูเขาที่ทุ่งนาเตา ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองแถงไปทางตะวันออกเป็นระยะทางเดิน 1 วัน น้ำเต้าได้แตกออก เทพได้กลายเป็นมนุษย์ 5 คู่ ออกมาจากน้ำเต้าทีละคู่ตามลำดับ คือ ข่า แจะ ภูไท ลาวพุงขาว ฮ่อ(จีน) และแกว(ญวน) ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของมนุษย์ 5 เผ่าพันธุ์ในเวลาต่อมาคนเหล่านี้ได้แยกย้ายกันตั้งรกรากในพื้นที่ต่าง ๆสำหรับชาวภูไทตั้งบ้านเรือนที่เมืองแถง มีขุนลอคำเป็นหัวหน้า ประชากรของภูไทได้เพิ่มจำนวนถึง 33,000 คนในเวลาต่อมา และขยายตัวไปตั้งรกรากหลายเมือง ขุนบรมราชบุตรของขุนลอคำ ได้เป็นเจ้าเมืองแถงใน พ.ศ. 1274 ขุนลอบุตรของขุนบรมราชาได้มาตั้งเมืองหลวงพระบางใน พ.ศ. 1283จากพงศาวดารเมืองไล กล่าวว่า ชาวภูไท ในดินแดนนี้ 2 พวกคือ

1. ภูไทขาว อาศัยอยู่เมืองเจียน เมืองมุน เมืองบาง มีเมืองไลเป็นเมืองใหญ่ รวม 4 เมือง ดินแดนแถบนี้อยู่ใกล้ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน อากาศหนาว ชาวภูไทจึงมีผิวขาว อีกทั้งได้รับอารยธรรมจากจีน โดยเฉพาะการแต่งกายในพิธีศพ ซึ่งนิยมนุ่งขาว ห่มขาว จึงเรียกชาวภูไทกลุ่มนี้ว่า ?ภูไทขาว?
2. ภูไทดำ อาศัยอยู่เมือง ควาย,เมืองคุง เมืองม่วย, เมืองลา เมืองโมะเมืองหวัด เมืองซาง มีเมืองแถง(แถน) เป็นเมืองใหญ่ รวมเป็น 8 เมือง ชาวภูไทกลุ่มนี้มีผิวคล้ำกว่าภูไทตอนบน และนิยมแต่งกายด้วยผ้าพื้นเมืองย้อมครามเข้ม และอาศัยอยู่บริเวณแม่น้ำดำ ซึ่งเป็นแหล่งเกษตรกรรม จึงเรียกว่า ?ภูไทดำ?ชาวภูไททั้ง 2 กลุ่ม รวมกันแล้วเป็น 12 เมือง จึงเรียกว่า แคว้น ?สิบสองจุไทย?เมืองไล เมืองของชาวภูไทขาว ตั้งอยู่ในดินแดนคาบเกี่ยว หรือตะเข็บของลาว จีน และญวน เพื่อความอยู่รอด เมืองนี้จึงจำเป็นต้องอ่อนน้อมแก่ทั้ง 3 ฝ่าย ต้องส่งส่วยแก่ทุกฝ่ายเดิมแคว้นสิบสองจุไทย ขึ้นกับอาณาจักรน่านเจ้า ครั้นต่อมาไปขึ้นอยู่กับอาณาจักรโยนกเชียงแสน เมื่ออาณาจักรโยนกเชียงแสน ถูกพวกภูไทมาทำลายลง สิบสองจุไทยได้ไปขึ้นกับแคว้นหิรัญเงินยวง (ต่อมาแคว้นนี้เป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรลานนา)ใน พ.ศ.2250 อาณาจักรล้านช้างได้แตกเป็น 2 อาณาจักร คือทางเหนือ เรียกว่า อาณาจักรล้านช้างร่มขาวหลวงพระบาง ทางใต้ เรียกว่า อาณาจักรล้านช้างร่มขาวเวียงจันทน์ สิบสองจุไทยอยู่ภายใต้การดูแลของอาณาจักรแรกต่อมาบังเกิดการอัตคัดอดอยาก และความขัดแย้งระหว่างท้าวก่า หัวหน้าของชาวภูไท กับเจ้าเมืองนาน้อยอ้อยหนู (น้ำน้อยอ้อยหนู) ท้าวก่าจึงพา ชาวภูไทเป็นจำนวนมาก (ประมาณหมื่นคน) อพยพจากเมืองนาน้อยอ้อยหนูมาขอขึ้นกับเวียงจันทน์ โดยทางเวียงจันทน์ให้ไปตั้งถิ่นฐานที่เมืองวัง (อยู่ทางตะวันออกของเมืองมุกดาหาร ห่างประมาณ 150 กิโลเมตร) ชาวภูไทกลุ่มนี้ ได้ส่งส่วยมีดโต้และขวานให้เวียงจันทน์ ปีละ 500 เล่ม แต่เนื่องจากเมืองวังอยู่ชายแดนอาณาจักรล้านช้างร่มขาวเวียงจันทน์ แต่ใกล้พรมแดนเวียดนาม พวกเขาจึงได้ส่งส่วยขี้ผึ้ง 5 ปึก (ปึกหนึ่งหนัก 5 ชั่ง) ให้แก่ เจ้าเมืองคำรั้วของเวียดนามด้วย

การอพยพของชาวภูไทเข้าสู่ประเทศไทย มี 3 ระลอกด้วยกันคือ
ระลอกที่ 1 สมัยธนบุรี ระหว่าง พ.ศ. 2321-2322 เมื่อกองทัพไทยซึ่งมีเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (รัชกาลที่ 1) กับเจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา) ได้นำกองทัพไทยสองหมื่นคนตีหัวเมืองลาว ตั้งแต่จำปาศักดิ์ถึงเวียงจันทน์เอาไว้ได้ หลวงพระบางซึ่งไม่ถูกกับเวียงจันทน์มาก่อนก็นำกำลังมาช่วยตีเวียงจันทน์ด้วย แม่ทัพไทยได้ให้กองทัพหลวงพระบางไปตีเมืองทันต์ (ญวนเรียก ซือหวี)เมืองมวย ซึ่งเป็นเมืองของชาวภูไทดำได้ทั้งสองเมือง แล้วกวาดต้อนชาวภูไทดำ(ลาวทรงดำ) เป็นจำนวนมากมาตั้งถิ่นฐานที่เมืองเพชรบุรี นับเป็นชาวภูไทรุ่นแรกที่มาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทย
ระลอกที่ 2 สมัยรัชกาลที่ 1 ใน พ.ศ. 2335 กองทัพเวียงจันทน์ตีหลวงพระบางแตกและจับกษัตริย์หลวงพระบางส่งกรุงเทพ ฯ ใน พ.ศ.2335-2338 กองทัพเวียงจันทน์ได้ตีเมืองแถง และเมืองพวน ซึ่งแข็งข้อต่อเวียงจันทน์ กวาดต้อนชาวภูไทดำ ลาวพวนเป็นเชลยส่งมากรุงเทพ ฯ รัชกาลที่ 1 ทรงมีรับสั่งให้ชาวภูไทดำประมาณ 4,000 คนไปตั้งถิ่นฐานที่เพชรบุรีเช่นเดียวกับชาวภูไทดำรุ่นแรก
ระลอกที่ 3 สมัยรัชกาลที่ 3 เป็นการอพยพประชากรครั้งใหญ่ที่สุดจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงเข้ามาอยู่ในประเทศไทย สาเหตุของการอพยพ คือ เกิดกบฏเจ้าอนุวงศ์ใน พ.ศ. 2369 - 2371 และเกิดสงครามระหว่างไทยกับเวียดนามในระหว่างปี พ.ศ.2376-2490 ยุทธวิธีของสงครามสมัยนั้น คือ การตัดกำลังฝ่ายตรงข้ามทั้งฝ่ายไทยและเวียดนามต่างกวาดต้อนประชากรในดินแดนลาวมาไว้ในดินแดนของตนสำหรับประชากรในดินแดนลาวที่ถูกไทยกวาดต้อนมาอยู่ในประเทศไทยจะมีทั้ง ภูไท กะเลิง โซ่ ญ้อ แสก โย้ย ข่า ซึ่งส่วนใหญ่จะถูกกวาดต้อนมาไว้ในภาคอีสาน ส่วนลาวพวน ลาวเวียง กวาดต้อนให้มาตั้งถิ่นฐานทั้งในภาคอีสานและภาคกลางของประเทศไทย แถบฉะเชิงเทรา ชลบุรี นครนายก ปราจีนบุรี สระบุรี ลพบุรี สุพรรณบุรี เพชรบุรี ราชบุรี นครปฐม เป็นต้นชาวภูไทที่ถูกกวาดต้อนมาในระลอกที่ 3 จะแยกเป็น 8 กลุ่มด้วยกัน สำหรับชาวภูไทในเขตจังหวัดสกลนคร เป็นพวกที่อพยพเข้ามาในกลุ่มที่ 3 และกลุ่มที่ 8 ดังนี้
กลุ่มที่ 3 อพยพมาจากเมืองวัง มาตั้งถิ่นฐานที่เมืองพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร (ใน พ.ศ.2513 อำเภอพรรณานิคม มี 7 ตำบล มีชาวภูไททั้ง 7 ตำบล รวม 65หมู่บ้าน 32,037 คน อำเภอเมืองสกลนคร มีภูไท 48 หมู่บ้าน ใน 13 ตำบล จาก 17 ตำบล อำเภอพังโคน มีภูไท 4 ตำบล 23 หมู่บ้าน อำเภอบ้านม่วง มีภูไท 3 ตำบล 16 หมู่บ้าน อำเภอวานรนิวาส มีภูไท 4 ตำบล 8 หมู่บ้าน อำเภอกุสุมาลย์ 2 ตำบล 4 หมู่บ้านอำเภอสว่างแดนดิน 2 ตำบล 3 หมู่บ้าน อำเภอกุดบาก 1 ตำบล 3 หมู่บ้าน อำเภอวาริชภูมิ 4 ตำบล 42 หมู่บ้าน รวมทั้งจังหวัดสกลนครมีภูไท 212 หมู่บ้าน 20,945 หลังคาเรือน 128,659 คน)
กลุ่มที่ 8 อพยพจากเมืองกะป๋อง มาตั้งถิ่นฐานที่บ้านปลาเป้า บ้านนียกเป็นเมืองวาริชภูมิ และตั้งท้าวพระยาสุวรรณเป็นพระสุรินทรบริรักษ์ เป็นเจ้าเมืองคนแรก ใน พ.ศ. 2410 ปลายสมัยรัชกาลที่ 4 (ใน พ.ศ.2513 มีภูไทในอำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร 4 ตำบล ตำบลวาริชภูมิ 1 หมู่บ้าน ตำบลคำบ่อ 12 หมู่บ้าน ตำบลปลาโหล 9 หมู่บ้าน และตำบลเมืองลาด 7 หมู่บ้าน รวม 42 หมู่บ้าน)ชาวภูไทที่ถูกกวาดต้อน-อพยพมาตั้งภูมิลำเนา ในจังหวัดสกลนคร อย่างเป็นปึกแผ่น ได้รับความร่มเย็นเป็นสุข หัวหน้าแต่ละพวกที่แยกย้ายกันอยู่ ได้ติดต่อปรึกษากับเจ้าเมืองที่ตนอาศัยอยู่เพื่อขอตั้งเมือง เช่น เจ้าเมืองโฮงกลางสี ที่อยู่บ้านพังพร้าว ท้าวแก้ว อยู่ที่บ้านจำปา และท้าวราชนิกุล อยู่บ้านหนองหอย ก็ติดต่อกับเจ้าเมืองสกลนคร เพื่อตั้งหมู่บ้านที่ตนตั้งภูมิลำเนาอยู่เป็นเมือง คือ บ้านพังพร้าว ขอตั้งเป็นเมืองพรรณานิคมบ้านจำปา ขอตั้งเป็นเมืองจำปาชนบท และบ้านหนองหอย ขอตั้งเป็นเมืองวาริชภูมิ เป็นต้นสำหรับชาวภูไททั้ง 8 กลุ่ม ได้ขยายจำนวนออกไปตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ต่าง ๆ ของภาคอีสานอย่างกว้างขวางในเวลาต่อมา รวมเป็น 9 จังหวัด 33 อำเภอ 494 หมู่บ้าน สรุปได้ดังนี้

1.จังหวัดสกลนคร 212 หมู่บ้าน 9 อำเภอ(พรรณานิคม เมืองสกลนครวาริชภูมิ พังโคน บ้านม่วง วานรนิวาส กุสุมาลย์ สว่างแดนดิน กุดบาก)
2. จังหวัดนครพนม 131 หมู่บ้าน 5 อำเภอ (นาแก เรณูนคร ธาตุพนม ศรีสงคราม เมืองนครพนม)
3. จังหวัดมุกดาหาร 68 หมู่บ้าน 5 อำเภอ (คำชะอีก เมืองมุกดาหาร นิคมคำสร้อย ดอนตาล หนองสูง)
4. จังหวัดกาฬสินธุ์ 63 หมู่บ้าน 5 อำเภอ (เขาวง กุฉินารายณ์ คำม่วง สมเด็จ สหัสขันธ์)
5. จังหวัดหนองคาย 6 หมู่บ้าน 3 อำเภอ(โซ่พิสัย บึงกาฬ พรเจริญ)
6. จังหวัดอำนาจเจริญ 5 หมู่บ้าน 2 อำเภอ (เสนางคนิคม ขานุมาน)
7. จังหวัดอุดรธานี 5 หมู่บ้าน 2 อำเภอ (วังสามหมอ ศรีธาตุ)
8. จังหวัดยโสธร 3 หมู่บ้าน 1 อำเภอ (เลิงนกทา)
9. จังหวัดร้อยเอ็ด 1 หมู่บ้าน (โพนทอง)

วันพุธที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

จากปลายด้ามขวานสู่อีสานบ้านเฮา


ททท.นครพนม ร่วมกิจกรรมส่งเสริมการขาย Amazing  I-san Road Show
จากปลายด้ามขวาน สู่อีสานบ้านเฮา”  14-20 พ.ค.55 นครศรีธรรมราช หาดใหญ่
เมื่อเวลา 16.30 น.- 21.00 น. ของวันที่ 16 พฤษภาคม  2555   นายวิชุกร  กุหลาบศรี ผู้อำนวยการ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย  สำนักงานนครพนม ได้นำผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวกลุ่มจังหวัดสนุก (สกลนคร นครพนม มุกดาหาร)กว่า 30 คน  เข้าร่วมการเจรจาการค้า (Table Top Sale) ณ ห้องบงกชรัชต์ 3 โรงแรมเดอะทวินโลตัส จ.นครศรีธรรมราช  ซึ่งการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ คุณพัฒน์มาศ  วงศ์พัฒนศิริ ผู้อำนวยการภูมิภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ททท. ประธานการจัดงาน ได้กล่าวสรุปสินค้าการท่องเที่ยวภาคอีสาน พร้อมทั้งนำชม วิดิทัศน์ สินค้า / เส้นทางการท่องเที่ยวภาคอีสาน แหล่งเรียนรู้อู่อารยธรรม และในเวลาต่อมาได้กล่าวต้อนรับ นายวิโรจน์ จิวะรังสรรค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ประธานในพิธี  และได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์การจัดงานพร้อมทั้งมอบของที่ระลึกให้แก่ประธานในพิธีฯ ภายในงานมีการแสดงศิลปวัฒนธรรมของภาคอีสาน จากวิทยาลัยนาฏศิลป์กาฬสินธุ์ และมีการจับรางวัลต่างๆมากมาย ซึ่งทำให้ผู้ร่วมงานกว่า 400 คนได้รับความสนุกสนานและได้เจรจาธุรกิจกับผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว และประชาชนผู้สนใจ ของจังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นปย่างมาก  และคาดว่าในวันที่ 17 พ.ค.55 ซึ่งจะได้จัดกิจกรรมดังกล่าว ที่ โรงแรม ลีการ์เด้นพลาซ่า อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา จะมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งผู้ประกอบการฯและประชาชนนทั่วไปให้ความสนใจเป็นอย่างมาก

อัครเดชา ฮวดคันทะ
ททท.นครพนม รายงาน