เรียบเรียบเรียง โดย
นายสิทธิโชค อันทราศรี
คณะครุศาสตร์ สาขาวิชาสังคมศึกษา
มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม
ความเป็นมาของหมู่บ้าน
บ้านกุดตาไก้ ตำบลสายนาวัง อำเภอนาคู จังหวัดกาฬสินธุ์ มีประวัติการตั้งถิ่นฐานมายาวนานกว่า
๑๘๐ ปี ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นชาวภูไท เมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๙
เจ้าอนุวงศ์ผู้ครองนครเวียงจันทน์เป็นกบฏต่อไทย กองทัพไทยไปปราบชนะ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่
๓ ทรงมีพระราชดำริให้กองทัพไทย ไปกวาดต้อนเอาครอบครัวหัวเมือง ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง
ข้ามมาอยู่ฝั่งขวาแม่น้ำโขง เพื่อมิให้เป็นทางเสบียงอาหารแก่ญวน ชาวเมืองวังจึงถูกกวาดต้อนมาตั้งเป็นเมืองกุดสิมนารายณ์
ปีพ.ศ. ๒๓๘๘ เป็นปีที่เจ้าราชวงศ์ (กอ) ลงไปเฝ้าที่กรุงเทพ ฯ และได้รับพระราชทานตราตั้งให้เป็นพระธิเบศวงษา
เป็นเจ้าเมืองกุดสิมนารายณ์ คนแรก หรือ อ.เขาวงในปัจจุบัน (นายนรเก โทธิเบศร์วงษา,
2519
: 32)
เมืองกุดสิมนารายณ์ปกครองกันต่อมา
ปรากฏมีดินแตกระแหงที่ท้ายเมือง กว้างเท่าฟองไข่เป็ด ลึกกว่าด้ายหลอดหนึ่งผูกลูกตุ้มหย่อนลงไปไม่ถึงก้น
เห็นไม่เป็นศิริมงคลผู้คนจึงอพยพแยกย้ายเมืองไปตั้งอยู่ตามสถานที่ต่างๆ ที่มีความอุดมสมบูรณ์
(นายนรเก โทธิเบศร์วงษา, 2519 : 32) ผู้คนที่มาตั้งบ้านกุดตาไก้ คือ “นายกวานบ้าน”
(ไม่ทราบชื่อที่แน่ชัด) โดยตั้งบ้านครั้งแรกอยู่ทางทิศตะวันออกของหมู่บ้าน
ปัจจุบันบ้านกุดตาไก้พัฒนา หมู่ ๗ ต่อมาหมู่บ้านเกิดโรคระบาดอย่างร้ายแรงจึงทำให้ชาวบ้านต้องย้ายไปทางทิศตะวันตกของหมู่บ้าน
ซึ่งเป็นคุ้มบ้านน้อย หรือ บ้านกุดตาไก้ หมู่ ๔ ในปัจจุบัน (นายอำนาจ
วิลาศรี, 2558 : สัมภาษณ์) บ้านกุดตาไก้เป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ระหว่างเมืองใหญ่สองเมืองในสมัยอดีต
คือเมืองภูแล่นช้าง และเมืองกุดสิมนารายณ์
ซึ่งมีหนองน้ำกุดแฮ่เป็นจุดกึ่งกลางระหว่างเมืองทั้งสอง ดังนั้นบ้านกุดตาไก้จึงต้องต้อนรับเจ้าเมืองทั้งสองฝั่งเป็นประจำทุกปีในสมัยอดีต
โดยใช้ผ้าทอ หรือ ผ้าคราม ซึ่งเป็นภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมาจากบรรพบุรุษเป็นของกำนัลมอบให้แก่เจ้าเมืองทั้งสองฝั่ง
ต่อมาเจ้าเมืองภูแล่นช้างได้อัญเชิญ “เจ้าปู่ตารำภมร”
มาสถิตอยู่ ณ กุดตาไก้เพื่อเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำหมู่บ้าน ชาวบ้านกุดตาไก้
จึงขึ้นกับเจ้าเมืองภูแล่นช้างนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา (นายเขียน คะโยธา, 2558 : สัมภาษณ์)
บ้านกุดตาไก้เป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์
หนองน้ำใกล้หมู่บ้าน (หรือกุดแฮ่ในปัจจุบัน) มีสัตว์ขนาดเล็กชื่อ “ไก้” มีรูปร่างเล็กคล้ายกระจง
ผู้คนมักล่ามาเป็นอาหาร จนในปัจจุบันสูญพันธุ์ไป หมู่บ้านนี้จึงได้ชื่อว่า “กุดตาไก้” ต่อมาศูนย์พัฒนาการเคลื่อนที่มาเปลี่ยนชื่อเป็น
“กุดตาใกล้” ในปี พ.ศ. ๒๕๒๕ ซึ่งในปัจจุบันชาวบ้านกุดตาไก้ รณรงค์ให้อนุรักษ์ชื่อหมู่บ้านไว้ให้เป็นดั่งเดิม
ชาวบ้านจึงนำชื่อหมู่บ้านกลับมาใช้เหมือนเดิมจากที่เคยเปลี่ยนโดยศูนย์พัฒนาการเคลื่อนที่
ในปี พ.ศ.๒๕๕๐ (นายอำนาจ
วิลาศรี, 2558 : สัมภาษณ์)
ลักษณะภูมิประเทศ
เดิมบ้านกุดตาไก้มีพื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์ สัตว์ป่าชุกชุม เช่น นกกา เก้ง ไก้
ค้างคาว ฯลฯ อาศัยอยู่มากมาย นอกจากนี้ยังมีความหลากหลายของพันธุ์พืชนานาชนิด
เป็นแหล่งอาหาร และสมุนไพรพื้นบ้านของคนในชุมชน
ต่อมาชุมชนมีการขยายตัว เกิดความต้องการทั้งพื้นที่สำหรับอยู่อาศัย
พื้นที่สำหรับการเกษตร ตลอดจนมีการแผ้วถางทำลายต้นไม้ใหญ่น้อย
สำหรับสร้างบ้านเรือน ปันจุบันบ้านกุดตาไก้ เป็นพื้นที่เพาะปลูกส่วนใหญ่เป็นที่นาดอน
ลักษณะดินเป็นดินร่วนปนทราย ในเขตพื้นที่ บ้านกุดตาไก้ ใช้ที่ดินสำหรับการเพาะปลูกเป็นส่วนใหญ่ ประมาณ
ร้อยละ ๖๐ ของพื้นที่ทั้งหมด ที่เหลือจะเป็นที่อยู่อาศัยและที่สาธารณะ
การใช้ประโยชน์ของที่ดินยังใช้ไม่ได้เต็มที่เนื่องจากดินส่วนมากจะเป็นดินร่วนปนทราย และยังขาดแคลนน้ำ
ในการทำการเกษตร (นายอำนาจ วิลาศรี, 2558 : สัมภาษณ์)
ที่ตั้ง
ทิศเหนือติดกับ บ้านนากระเดา ต.สายนาวัง
อ.นาคู จ.กาฬสินธุ์
ทิศใต้ติดกับ
บ้านหนองห้าง ต.โนนนาจาน อ.นาคู จ.กาฬสินธุ์
ทิศตะวันออกติดกับ
บ้านส้มป่อย ต.สระพังทอง อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์
ทิศตะวันตกติดกับ
บ้านจาน ต.โนนนาจาน อ.นาคู จ.กาฬสินธุ์
-จักรยานคันแรกเป็นของ นายคำภา คะโยธา เมื่อปี พ.ศ.2509
-มอเตอร์ไซค์คันแรกเป็นของ นายพรหมมา
กุดตระแสง เมื่อปี พ.ศ.2509
-รถยนต์คันแรกเป็นของ นายสว่าง เมื่อปี พ.ศ. 2510
-ใบยาสูบถูกนำเข้ามาปลูกในหมู่บ้านครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2511
-ปุ๋ยเคมีเข้ามาหมู่บ้านกุดตาไก้ครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2511 โดย โดยหน่วยพัฒนาการทหารเคลื่อนที่
-โรงสีของหมู่บ้านกุดตาไก้เป็นของ นายโชติ คะโยธา เมื่อปี พ.ศ. 2511
-ร้านค้าแห่งแรกของบ้านกุดตาไก้ เป็นของ นายโชติ คะโยธา เมื่อปี พ.ศ.
2512
-เครื่องปั่นไฟเครื่องแรกเป็นของ นายทองแดง แก้วคำภา เมื่อปี พ.ศ.
2524
-อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าเข้ามาหมู่บ้านกุดตาไก้ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2524
-ไฟฟ้าเข้ามาหมู่บ้านกุดตาไก้ ครั้งแรกเมื่อ ปี พ.ศ 2524
-น้ำประปาเข้ามาหมู่บ้านกุดตาไก้ ครั้งแรกเมื่อ ปี พ.ศ. 2524
-ทีวีเครื่องแรกของหมู่บ้านกุดตาไก้ เป็นของ นายธีระวัฒน์ บุษมงคค เมื่อปี
พ.ศ.2525
-บ้านกุดตาไก้ ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น บ้านกุดตาใกล้ เมื่อปี พ.ศ. 2525 โดยศูนย์พัฒนาการเคลื่อนที่
-รถไถเดินตามคันแรกเป็นของ นายประชิน
วรสาร เมื่อปี พ.ศ. 2535
-สำนักสงฆ์วิสุทธิญาณสุนทร (วัดป่า) บ้านกุดตาไก้ก่อตั้ง เมื่อปี พ.ศ.
2535
-ถนนลาดยางสร้างเสร็จครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2538
-มีเมรุครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2538
-โทรศัพท์บ้านเข้ามาหมู่บ้านกุดตาไก้ครั้งแรก เป็นของ นายสานิตย์ เมื่อปี
พ.ศ. 2539
-แท็งก์น้ำสร้างที่หมู่บ้านกุดตาไก้ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2540
-ปัจจุบันเปลี่ยนคืนเป็นบ้านกุดตาไก้ เมื่อปี พ.ศ. 2550
อดีตผู้ใหญ่(กวานบ้าน) และ
กำนัน(ตาแสง) ของหมู่บ้านกุดตาไก้
1.นายสิม (ไม่ทราบว่ามีนามสกุลหรือไม่) เมื่อปี
พ.ศ. 2457 – 2463
2.นายบุตรดี วรสาร เมื่อปี พ.ศ. 2463 –
2469
3.นายจ่อม วิลาศรี เมื่อปี พ.ศ. 2469 –
2475
4.นายวงศ์ วรสาร เมื่อปี
พ.ศ. 2475 – 2485
5.นายวารี วิลาศรี เมื่อปี
พ.ศ. 2485 – 2487
6.นายงอน คะโยธา เมื่อปี
พ.ศ. 2487 – 2503
7.นายเกิ่ง ศรีพะยอม เมื่อปี
พ.ศ. 2503 – 2505
8.นายเภา วิลาศรี เมื่อปี
พ.ศ. 2505 – 2518
9.นายบรรจง โวหารกล้า เมื่อปี
พ.ศ. 2518 – 2524
10.นายบรรจง โวหารกล้า เมื่อปี
พ.ศ. 2524 – 2541 กำนันคนแรกของหมู่บ้านกุดตาไก้ ต.สายนาวัง
อ.นาคู จ.กาฬสินธุ์
11.นายอำนาจ วิลาศรี เมื่อปี พ.ศ. 2541 –
2551 กำนันคนที่สองของหมู่บ้านกุดตาไก้ ต.สายนาวัง อ.นาคู
จ.กาฬสินธุ์ กำนันยอดเยี่ยมพ.ศ. 2550
เดิมบ้านกุดตาไก้มีเพียงหมู่ที่
4 เพียงหมู่บ้านเดียว แต่เมื่อปี พ.ศ. 2528
ได้แยกการปกครองออกเป็น 2 หมู่บ้าน คือหมู่ที่ 4 และหมู่ที่ 7 โดยมีผู้ใหญ่หมู่บ้านหมู่ที่ 7
ปกครองตามลำดับดังนี้
1.นายจอม วิลาศรี เมื่อปี
พ.ศ. 2528 – 2542
2.นายทองแดง แก้วคำภา เมื่อปี
พ.ศ. 2542 - 2552
ปัจจุบันการปกครอง ประกอบด้วย
บ้านกุดตาไก้ หมู่4 (บ้านน้อย)
และบ้านกุดตาไก้พัฒนา หมู่ 7 โดยมีผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่
4 และ หมู่ที่ 7 ปกครองดังนี้
1.นายเจริญ วิลาศรี เมื่อปี
พ.ศ. 2551 – ปัจจุบัน
2.นายเมืองมนต์ สุขพันธ์ เมื่อปี
พ.ศ. 2552 – ปัจจุบัน
ประชากร หมู่ 4 ชาย...214...คน หญิง...230...คน รวม 444 คน 97
ครัวเรือน ประชากร หมู่ 7 ชาย...221...คน หญิง...240...คน รวม 461 คน 112
ครัวเรือน (ข้อมูลสถิติ พ.ศ. 2558)
บุคคลสำคัญของหมู่บ้าน กุดตาไก้
นายบำรุง
คะโยธา เกิดที่บ้านกุดตาไก้ เมื่อปี พ.ศ. 2493 จบการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง
เป็นผู้นำรากหญ้า ท้าอธรรม ตั้งแต่กลับมาจากการเป็นกรรมกรในกรุงเทพฯ นายบำรุง คะโยธา พาเกษตรกรรวมกลุ่มผู้เลี้ยงหมู
ต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมให้กับกลุ่มผู้เลี้ยงหมู
ทดลองทำการแปรรูปหมูเป็นสินค้าในรูปแบบต่างๆ แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จทางการตลาด ต่อมานายบำรุง คะโยธา ร่วมกับเอ็นจีโอและผู้นำเกษตรกรคนอื่นๆ
พาพี่น้องเกษตรกรจัดตั้งสมัชชาเกษตรกรรายย่อยภาคอีสาน (สกยอ.) ที่ขอนแก่น นายบำรุง คะโยธา
เป็นผู้นำในการเรียกร้องและต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมให้แก่เกษตรกร ขณะที่มีผู้นำอื่นๆ
อาศัยเกษตรกรไต่เต้าในลักษณะ “นายหน้าค้าความจน” และเรียกรับเงินจากเกษตรกร นายบำรุง
คะโยธา ไม่เคยมีพฤติกรรมไม่ดีเช่นนี้
ผู้นำเกษตรกรแตกแยกกัน กลายเป็น สกยอ.1 และ สกยอ.2 หลายคนไปสมัครเป็น
สส.บัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง บางคนอยู่ในกองทุนฟื้นฟูเกษตรกร
บางคนติดคุกอยู่ที่บุรีรัมย์ นายบำรุง คะโยธา
และผู้นำอีกส่วนหนึ่งพากันก่อตั้ง “สมัชชาคนจน” รวมเครือข่ายเกษตรกรกว่า 100 ชุมชน ชุมนุมเรียกร้องหน้าทำเนียบ 99 วัน
จนถือว่าเป็นม็อบที่อยู่นานที่สุดตั้งแต่มีการเรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่ เกษตรกร
ซึ่ง มีทั้งที่ประสบผลสำเร็จ เกษตรกรได้รับสิทธิที่ดิน ได้ผ่อนเบาหนี้สิน
เกิดกองทุนฟื้นฟูเกษตรกร ช่วยปลดหนี้และประนอมหนี้แก่เกษตรกร
สถานที่ผู้คนอพยพมาอยู่บ้านกุดตาไก้ครั้งแรก
ปัจจุบันอยู่ที่ข้างบ้านของนายเสวิด วิลาศรี บ้านกุดตาไก้ หมู่ที่
7
หนองกุดแฮ่
ปัจจุบันอยู่บ้านกุดตาไก้ หมู่ที่ 4
แท็งก์น้ำบ้านกุดตาไก้
สร้างครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2540 ปัจจุบันอยู่บ้านกุดตาไก้
หมู่ที่ 7 ยังใช้การได้
มีเมรุครั้งแรกเมื่อปี
พ.ศ.
2538 ปัจจุบันอยู่บ้านกุดตาไก้ หมู่ที่ 4
อ้างอิง
นรเก โทธิเบศร์วงษา. (2519). ตำนานไทย – พุไทยวัง. [ม.ป.ท: ม.ป.พ.].
นายเขียน
คะโยธา. อายุ 82 ปี. บ้านเลขที่ 51 บ้านกุดตาไก้ หมู่ 4 ต.สายนาวัง อ.นาคู จ.กาฬสินธุ์.
ผู้ให้สัมภาษณ์. นายสิทธิโชค อันทราศรี.
ผู้สัมภาษณ์. วันที่ 17 ตุลาคม 2558.
นายบรรจง โวหารกล้า. อายุ 78 ปี. บ้านเลขที่ 64 บ้านกุดตาไก้ หมู่ 4 ต.สายนาวัง อ.นาคู จ.กาฬสินธุ์. ผู้ให้สัมภาษณ์.
นายสิทธิโชค อันทราศรี. ผู้สัมภาษณ์.
วันที่ 17 ตุลาคม 2558.
นายอำนาจ วิลาศรี. อายุ 60 ปี. บ้านเลขที่ 58 บ้านกุดตาไก้ หมู่ 4 ต.สายนาวัง อ.นาคู จ.กาฬสินธุ์. ผู้ให้สัมภาษณ์. นายสิทธิโชค อันทราศรี. ผู้สัมภาษณ์. วันที่ 17 ตุลาคม 2558.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น